หน้าแรก  :  เกี่ยวกับเรา  :  สมัครสมาชิก  :  ติดต่อเรา  :  บริจาค และ สั่งซื้อหนังสือเรื่อง"For You....คุณแม่คนเก่ง
บทความที่ควรอ่าน: การฝึกกิจกรรมบำบัดหรือเอสไอ
การฝึกกิจกรรมบำบัดหรือเอสไอ
Views: 79592

การฝึกกิจกรรมบำบัดหรือเอสไอ

            เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ดร.เอ จีน แอร์ (Dr.A.Jean Ayres) เป็นนักกิจกรรมบำบัดและนักจิตวิทยาการศึกษาชาวอเมริกันซึ่งศึกษาติดตามและเชื่อในการบูรณาการการรับรู้ความรู้สึก (Sensory Integration) ว่า  หากเด็กทุกคนเกิดมาสามารถรับรู้ความรู้สึกผ่านการเห็น  การได้ยิน  การรับรส  การได้กลิ่น  การสัมผัส  การทรงตัว  การเคลื่อนไหวและการรับรู้ผ่านเอ็น  ข้อต่อและกล้ามเนื้อได้อย่างสมบูรณ์  มีการบันทึกข้อมูลความรู้สึก (Sensory Modulation) มีการปรับระดับความรู้สึก (Sensory Modulation) โดยมีการบูรณาการการรับรู้ความรู้สึก (Sensory Integration) มีการแยกแยะความรู้สึก (Sensory Discrimination) และการตอบสนองเพื่อการปรับตัว (Adaptive Response) โดยผ่านการทำงานของสมองและระบบประสาท  จะส่งผลให้เด็กสามารถเติบโตได้ตรงตามวัย จะสามารถรับรู้  เรียนรู้และมีทักษะในการประพฤติปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องในชีวิตประจำวัน  ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจวัตรประจำวันที่บ้าน  ที่โรงเรียน  สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง

            หากการบูรณาการรับรู้ความรู้สึกของเด็ก  ทำงานไม่เป็นระบบอย่างสมบูรณ์  เด็กจะไม่สามารถเติบโตได้ตามวัย  ไม่สามารถรับรู้และเรียนรู้ที่จะประพฤติปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในสิ่งแวดล้อมใดและจะเกิดปัญหาพัฒนาการ

           ทฤษฎีนี้ ได้รับความเชื่อถือและพัฒนามาตั้งแต่ปี  ค.ศ.1960  หรือ  ปี 2503 จนมีเด็กเป็นจำนวนมากที่ใช้การ  รักษาตามการแพทย์ปัจจุบัน  ร่วมกับการทำกิจกรรมบำบัด  ประสบความสำเร็จ  อาการที่เป็นปัญหาต่างๆ ดีขึ้นหรือหายไปก่อนเติบโตเป็นวัยรุ่น  เป็นที่น่าสังเกต  ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการรับรู้  มักจะต้องทำกิจกรรมบำบัดเช่นกัน

            การที่เด็กมีปัญหาในระบบการรับรู้ความรู้สึกเพียงด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน  มากหรือน้อยเกินไปและการบูรณาการไม่สมบูรณ์   จะส่งผลอย่างมากในด้านพัฒนาการ  ทำให้เกิดปัญหาดังต่อไปนี้

  • ปัญหาลายมือ ปัญหาการใช้นิ้วมือและการใช้มือ
  • ปัญหาการพูด การใช้ภาษาและการสื่อสาร
  • ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์
  • ปัญหาการควบคุมตนเอง
  • ปัญหาการปรับตัวตามสถานการณ์
  • ปัญหาการช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวัน
  • ปัญหาการซุนซนอยู่ไม่นิ่ง วอกแวกเปลี่ยนความสนใจง่าย
  • ปัญหาหุนหันพลันแล่น  หงุดหงิดโมโหง่าย
  • ปัญหาความรู้สึกไร้คุณค่า ไม่รู้สึกภาคภูมิใจในตนเองและหมดความเชื่อมั่นในตนเอง
  • ปัญหาความสำเร็จทางด้านการเรียน
  • ปัญหาสมาธิและความสนใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ได้รับมอบหมาย
  • ปัญหาการเขียนการอ่าน
  • ปัญหาการคิดรวบยอด
  • ปัญหาการใช้เหตุผล
  • ปัญหาความแข็งแรงของร่างกาย แขนขา
  • ปัญหาประสาทสัมพันธ์
  • ปัญหาการเรียนรู้

            

           เด็กสมาธิสั้น  เด็กแอลดี  เด็กออทิสติกหรือเด็กในกลุ่มออทิสติกสเปคตรัม  เช่น  เด็กแอสเพอร์เกอร์และเด็กมีปัญหาสติปัญญา  รวมทั้งเด็กดาวน์ซินโดรม  เด็กคลอดก่อนกำหนดหรือเด็กมีน้ำหนักตัวน้อยผิดปกติ  มักมีปัญหาความบกพร่องของการบูรณาการรับรู้ความรู้สึก (Sensory Integration Dysfunction) การกระตุ้นระบบรับความรู้สึกของเด็กหรือที่เรียกว่า “การทำเอสไอ” หรือ "ก่ารทำกิจกรรมบำบัด" หากเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็กเล็กหรือแรกพบ  จะให้ผลดีที่สุด  การกระตุ้นต้องทำด้วยกิจกรรมบำบัดที่ให้ความสุขกับเด็ก  เด็กรู้สึกสนุกสนานในการทำกิจกรรมกระตุ้นนั้นๆ  ไม่กดดัน  ไม่บีบบังคับและยืดยุ่นให้เหมาะสมกับตัวเด็ก  ต้องทำเป็นประจำทุกวัน (อย่างน้อย 1 ชั่วโมง ถ้าคิดขัดด้านการเงิน  ควรขอการบ้านจากนักกิจกรรมบำบัดมาทำหรือหาหนังสือ "เพิ่มทักษะการรับรู้  ของ ศ.ดร.ผดุง อารยะวิญญู" มาทำเองที่บ้าน) อย่างถูกวิธีเป็นดีที่สุด

           นักกิจกรรมบำบัดต้องประเมินปัญหาและดำเนินการดังต่อไปนี้

           1.นักกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapist) จัดการประเมินการรับรู้ของเด็กเป็นรายบุคคล

           2.จัดสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมให้เหมาะสมกับเด็กเป็นรายบุคคล  เพื่อให้สมองจัดระเบียบข้อมูลที่รับผ่านความรู้สึก  ปรับระดับ แยกแยะ  ประมวลผลหรือบูรณาการข้อมูลอย่างถูกต้องสมบูรณ์

           3.นักกิจกรรมบำบัด  เป็นเพียงผู้ช่วยของเด็กซึ่งพยายามกระตุ้นให้เด็กทำกิจกรรมด้วยตนเองให้มากที่สุด  ต้องสังเกตการณ์ทำกิจกรรมและการสนองตอบของเด็ก  ปรับกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง  เพื่อกระตุ้นให้สมองสร้างโปรแกรมการพัฒนาความสามารถของเด็กให้สูงขึ้น

         4.ประเมินผลความก้าวหน้าของเด็กอย่างต่อเนื่อง

         5.คุณแม่และคุณครู  มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่จะเป็นนักกิจกรรมบำบัดร่วมที่บ้านและที่โรงเรียน  เพราะเด็กจะต้องทำทุกวันอย่างน้อยสันละ 1 ชั่วโมง

    ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

  •      เด็กมีร่างกายและจิตใจที่พร้อมที่จะเรียนรู้

  •     เด็กสามารถพัฒนาตนเองและเติบโตได้สมวัย

  •      เด็กสามารถพัฒนาการเรียนรู้  การแสดงพฤติกรรมและอารมณ์ได้อย่าง เหมาะสม

  •     เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวและมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง

  •     เด็กสามารถประกอบกิจกรรมประจำวันที่บ้านและที่โรงเรียนได้ดีขึ้น

           เมื่อเด็กอยู่ในครอบครัวที่มีแต่ความรักและความอบอุ่น  หากได้ทำเอสไอ  เมื่อเติบโตขึ้น  จะมีความสามารถสูงขึ้น

          โดยความเป็นจริงแล้ว ในสมัยก่อน ไม่ว่าเด็กจะมีปัญหาหรือไม่มีปัญหา พ่อแม่ปู่ย่าตายายจะกระตุ้นระบบรับความรู้สึกทุกด้าน  ตั้งแต่วัยแบเบาะ เช่น  การเห่กล่อมในอ้อมแขน  การนอนในเปลที่แกว่งไกว  พร้อมฟังเพลงเห่กล่อมและมองปลาตะเพียน  เมื่อเติบโตในแต่ละวัย  จะมีการเล่นที่ช่วยกระตุ้นระบบรับความรู้สึกอย่างต่อเนื่อง  เช่น  การเล่นตบแผะ  การหัดร้องเพลงรำไทยง่ายๆ การเล่นใช้เชือกคล้องตามนิ้วและทำเป็นรูปเรขาคณิต  การเล่นพรายกระซิบ  เล่นซ่อนหา  เล่นชิงช้ากับต้นไม้  เล่นปืนก้านกล้วย  เล่นหมากเก็บ เล่นอีตัก  เล่นอีมอญซ่อนผ้า เล่นวิ่งกะลา  เล่นวิ่งผลัด  วิ่งเปรี้ยว  เล่นตั้งเต  เล่นขี่ม้าโยกเยก เล่นขี่ม้าส่งเมือง  เล่นเป่ากบ  เล่นกระโดดเชือก  เล่นชักคะเย่อ  สารพัดจะเล่น รวมทั้งมีการอาบน้ำขัดสีฉวีวรรณ ซึ่งเป็นการนวดลำตัว  การกระตุ้นระบบรับความรู้สึกของเด็กทุกรูปแบบ และ การฝึกให้เด็กมีนิ้วมือแขนขาที่แข็งแรง  รวมทั้งมีประสาทสัมพันธ์ที่ดี  ที่สำคัญมากคือ  หัดให้เด็กรู้จักรอคอยและเรียนรู้กับกฎกติกามาตั้งแต่เล็ก  ทุกการกระตุ้นไม่เสียเงินและแสนจะง่ายเล่นได้ทุกแห่ง  เพียงแต่ไม่มีคำอธิบายถึงประโยชน์ให้เป็นที่เข้าใจ  คนรุ่นเก่าจะเลี้ยงดูลูกหลานเช่นนี้

           เราจะสังเกตได้ว่า  คนรุ่นเก่าหรือคนที่ได้รับการเลี้ยงดูในวัยเด็กเช่นนี้ จะมีภูมิปัญญาติดอยู่ในตัวของตัวเอง  ถึงแม้จะได้เรียนหนังสือน้อย  แต่มิได้ด้อยกว่าใครในแง่สติปัญญาและความสามารถ  ต่างกันที่ไม่มีโอกาสและไม่มีฐานะเท่านั้น

          เราควรย้อนกลับมาฝึกหรือกระตุ้นระบบรับความรู้สึกทุกด้านของเด็ก  ตามภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายกันได้แล้ว  นอกจากจะไม่เสียเงินยังให้ผลดีต่อเด็กชนิดที่ประเมินคุณค่ามิได้อีกด้ว

           เมื่อคุณเข้าใจเรื่องของการบูรณาการการรับรู้แล้ว  การพาเด็กไปทำกิจกรรมบำบัดหรือการทำเอสไอ  จึงเป็นเรื่องที่ดี  โรงพยาบาลหลายแห่งได้จัดให้มีการทำกิจกรรมบำบัดให้เด็กแล้ว  ศูนย์ของเอกชนก็เริ่มมีแล้วหลายแห่ง

           ถ้าหากคุณไม่สะดวกจะลองฝึกให้ลูกด้วยตนเองก็ได้  แต่เด็กจะต้องมีความสุขในขณะที่ฝึก ไม่ใช่ฝึกไปร้องไห้ไป  คุณต้องมีลูกเล่นอยู่ตลอดระยะเวลาฝึก จึงจะได้ผลดีที่สุด  กำหนดเวลาการฝึกควรแน่นอนและทำเป็นประจำทุกวันๆละประมาณ 1 ชั่วโมง  อายุที่สมควรฝึกไม่จำกัด  เร็วที่สุดเป็นดีที่สุด  เด็กธรรมดาหรือเด็กพิเศษทุกประเภทต้องฝึกเป็นประจำ

             ปัญหาการรับรู้ทางสายตา เด็กสมาธิสั้นควรฝึก ตัวอย่าง

           - ปิดไฟ ใช้ไฟฉายส่องไปที่ฝา ให้เด็กใช้ไฟฉายอีกดวงฉายตามไปที่จุดทีคุณฉาย

          - เปิดไฟหลายสี  ทำไฟสีจ้า  เป็นไฟนิ่ง  ไฟสลัว  ไฟกระพริบ  ทำที่ละสีหรือทำสลับกันไปมา  เปิดไฟสีอ่อน  สลับไปมา  ทำเป็นไฟจ้า  ไฟนิ่ง  ไฟสลัวและไฟกระพริบ

          - ให้หาสิ่งของมีสีสันในหญ้า

          - ใช้ลูกแก้วหลายสี  หลายลูก  กลิ้งในราง  ให้เด็กหยิบลูกแก้วตามสีที่คุณบอก

          - เป่าลูกโป่งหลายสีให้ลอยในอากาศ  ให้เด็กมองตามลูกโป่งและให้เดาว่าลูกโป่งจะลอยไปทางใด

            ปัญหาการได้ยิน เด็กสมาธิสั้นควรฝึก ตัวอย่าง

          - ให้ฟังเสียงในทิศทางต่างๆกันและให้เด็กบอกว่าเสียงดังมาจากด้านใด

          - เล่นเกมทายเสียง  ทั้งทำให้ดังและดังแผ่วๆ หรือ ผสมเสียงให้แยกให้ออกว่าเป็นเสียงอะไร

          - เปิดเพลงช้าแล้วให้เดิน  เปิดเพลงกำลังดีแล้วให้เตะขาตามจังหวะและเปิดเพลงเร็ว  เช่น  จังหวะเร็กเก้  ให้เด็กเต้นตามจังหวะ  พร้อมตบมือให้เป็นไปตามจังหวะ  ลดเสียงและให้เต้นตามจังหวะ

            ปัญหาการรับรู้ผ่านกล้ามเนื้อเอ็นข้อต่อ เด็กสมาธิสั้นควรฝึก ตัวอย่าง

          - ให้หิ้ว  ลาก  ผลัก  ดึง   ของที่มีน้ำหนัก

          - โหนราว ไต่ราวกลางแจ้ง

          - กระโดดบนที่กระโดดสปริงก์หรือแทมโบลีน  คลานบนพื้น ใช้มือตบบอลล์เข้ากำแพง

           ปัญหาการเคลื่อนไหวและการทรงตัว เด็กสมาธิสั้นควรฝึก ตัวอย่าง

          - การวิ่งแล้วหมุนตัวกลับไปมา

          - นำเก้าอี้มาวาง 2 ตัว  ให้ห่างกันประมาณ 1 เมตร  ให้เด็กเดินเป็นเลขแปดและวิ่งเป็นเลขแปด

         - กระโดดเชือก  เดินเป็นวงกลม  วงรี

          ปัญหาการรับรสและการได้กลิ่น  ตัวอย่าง

         - เริ่มจากกลิ่นที่เด็กรับได้  ตามด้วยการแกะหรือปอกผลไม้กลิ่นต่างๆ เด็ดใบไม้และดม  เด็ดดอกไม้แล้วดมหรือขนี้ใบไม้หรือดอกไม้

         - ให้หลับตาดม  ชิมและบอกชื่อขนมหรืออาหาร  ควรเริ่มจากขนมหรืออาหารที่ชอบก่อน

         - ให้มอง  สัมผัส  ดมและชิมอาหารหรือขนมหรือผลไม้  เริ่มจากสิ่งที่ชอบก่อน

         - ปัญหาการสัมผัส เด็กสมาธิสั้นควรฝึก ตัวอย่าง

          - ให้สัมผัสสำลีและวางสำลีบนแขนและถูเบาๆ  เปลี่ยนเป็นผ้าสำลีและเปลี่ยนเป็นผ้าเนื้อธรรมดา  เปลี่ยนเป็นผ้าหนาและใช้มือสัมผัสแขนและลูบแขนหรือจับแขน

          - ให้เท้้าสัมผัสผ้าสำลี  เดินบนผ้าสำลี  เดินบนพรมเนื้อผ้า  เดินบนพรมเนื้อหยาบ  เดินบนทราย  เดินบนหญ้า  เดินบนดินและเดินบนแผ่นไม้และเดินบนกระเบื้องปูพื้น

           - ใช้นิ้วถูผิวถั่วแดง  จับถั่วแดง  กำถั่วแดง เ อามือล้วงในภาชนะที่ใส่ของเล็กหลายอย่าง  ใส่ถั่วแดง  ให้เด็กใช้มือลงไปหาเม็ดถั่วแดง

             - ให้เด็กแตะมือ  ลูบมือ  จับมือและใช้มือเล่นตบแผะกับผู้ฝึก  ให้เด็กใช้มือแตะพื้นกระเบื้องหรือพื้นไม้หรือพื้นปูน  ให้เดินเร็วหรือวิ่งบนพื้นไม้หรือพื้นปูน

           นอกเหนือจากการทำกิจกรรมบำบัดหรือเอสไอแล้ว  ปรากฏว่ามีผลงานวิจัยล่าสุดหลายชิ้น นั บตั้งแต่ปี พ.ศ 2533 เ ป็นต้นมา  เชื่อว่า  หากทำกิจกรรมบำบัดควบคู่กับการบำบัดที่เรียกว่า  Interactive Metrodome Treatment  แล้วอาการความบกพร่องของการทำงานของสมองและระบบประสาท  จะดีขึ้นอย่างมาก  แถมยังมีการซ่อมแซมและฟื้นฟูจุดทึ่บกพร่องในสมองและระบบประสาทได้อีกด้วย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหน้า "การช่วยเหลือนอกจากยา" ในเว็ปไซท์นี้)  

           เด็กสมาธิสั้นที่ได้รับการฝึกตามข้างต้น  จะช่วยทำให้เด็กสามารถอยู่นิ่งๆและลดอาการเคลื่อนไหวซุกซนได้ นอกจากนี้ควรฝึกเด็กทางด้านอื่นด้วยดังต่อไปนี้

           -  ฝึกการทำงานเป็นขั้นตอน

             -  ฝึกการคิดก่อนทำ  ฝึกการวางแผนล่วงหน้า ฝึกการประมาณเวลา เมื่อลงมือทำ  ให้พยายามให้เสร็จตรงเวลา

           -  ฝึกให้เห็นข้อดีของตนเอง

           -  ฝึกการใช้เหตุและผล  โดยการหัดวิเคราะห์

           -  ฝึกการจับประเด็น  โดยการเล่านิทานอิสปและให้เด็กคิดรวบยอดหรือจับประเด็นให้ได้ว่านิทานต้องการสอนเรื่องอะไร

          พึ่งจำไว้ว่า หากคุณเป็นชาวพุทธ  การที่อาการจะดีขึ้นมากหรือน้อย  เร็วหรือช้า  จะต้องเป็นไปตามกฏแห่งกรรมของแต่ละคนซึ่งถูกกำหนดมาแล้วแต่เราไม่รู้  เพื่อเพิ่มกรรมดี  ทุกคนควรสร้างบุญบารมีให้ตนเอง  ขอให้ย้อนกลับไปอ่าน "หน้าแรก" จะเข้าใจและนำไปปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูก  ความสำเร็จของคุณและลูกจะอยู่แค่เอื้อม  หากคุณไม่เชื่อ  จงพิสูจน์ด้วยตนเอง

     

     



 
หน้าแรก  เกี่ยวกับเรา  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา  บริจาค และ สั่งซื้อหนังสือเรื่อง"For You....คุณแม่คนเก่ง
Copyright©2024 adhdthai.com
Powered by SMEweb