หน้าแรก  :  เกี่ยวกับเรา  :  สมัครสมาชิก  :  ติดต่อเรา  :  บริจาค และ สั่งซื้อหนังสือเรื่อง"For You....คุณแม่คนเก่ง
บทความที่ควรอ่าน: สิ่งที่ครูควรทำ
สิ่งที่ครูควรทำ
Views: 46894

สิ่งที่คุณครูผู้แสนดีควรทำ

คุณครู คือ คุณแม่คนที่สอง เด็กๆ เมื่อเข้าโรงเรียนใหม่ๆ หรือ เมื่อขึ้นชั้นเรียนใหม่ๆ มักจะมองคุณครูด้วยแววตาที่บริสุทธิ์ ประกอบด้วยศรัทธาในความรักของคุณครู พ่อแม่มั่นใจว่าครูทุกคนรักลูกศิษย์และปรารถนาให้ความสำเร็จเกิดแก่ลูกศิษย์ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกศิษย์ที่มีความต้องการพิเศษ

ความเมตตาของคุณครู จะทำให้เด็กๆ มีรักและศรัทธาต่อคุณครูเป็นอย่างยิ่ง สิ่งต่อไปนี้คุณครูช่วยได้ซึ่ง รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล ได้เขียนไว้ในหนังสือ "มาช่วยเด็กสมาธิสั้นกันเถอะ"

    1. จัดเด็กให้นั่งหน้าชั้นหรือใกล้ครูให้มากที่สุด เพื่อครูจะได้เตือนเด็กให้กลับมาตั้งใจเรียน เมื่อสังเกตว่าเด็กเริ่มขาดสมาธิ นอกจากนี้ควรให้เด็กนั่งอยู่ในตำแหน่งที่ถูกแวดล้อมด้วยเด็กเรียบร้อย ที่ไม่คุยในระหว่างเรียน

    2. จัดให้เด็กนั่งอยู่กลางห้อง หรือ ให้ไกลจากประตูหน้าต่าง เพื่อลดโอกาสที่เด็กจะถูกทำให้วอกแวกโดยสิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกห้องเรียน

    3. เมื่อเด็กหมดสมาธิจริงๆ ควรจัดกิจกรรมที่เปลี่ยนอิริยาบถและเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็กทำ เช่น มอบหมายหน้าที่ให้ช่วยครูเดินแจกสมุดให้เพื่อนๆ ในห้อง ลบกระดานดำ เติมน้ำใส่แจกัน เป็นต้น ก็จะช่วยลดความเบื่อของเด็กลงและทำให้เรียนได้นานขึ้น

    4. ให้คำชมเชยหรือรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเด็กปฏิบัติตัวดี หรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์

    5. คิดรูปแบบวิธีเตือนหรือเรียกให้เด็กกลับมาสนใจบทเรียน โดยไม่ทำให้เด็กเสียหน้า

    6. เขียนการบ้านหรืองานที่เด็กต้องทำในชั้นเรียนให้ชัดเจนบนกระดานดำ พยายามสั่งงานด้วยวาจาให้น้อยที่สุด

    7. หากจำเป็นต้องสั่งงานด้วยวาจา ควรหลีกเลี่ยงการสั่งพร้อมกันทีเดียวหลายๆ คำสั่ง ควรให้เวลาให้เด็กทำเสร็จทีละอย่างก่อนให้คำสั่งต่อไป หลังจากให้คำสั่งแก่เด็ก ควรถามเด็กด้วยว่า ครูต้องการให้เด็กทำอะไร เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าเด็กรับทราบและเข้าใจคำสั่งอย่างถูกต้อง

    8. ตรวจสมุดงานของเด็ก เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กจดงานได้ครบถ้วน

    9. ในกรณีที่เด็กมีสมาธิสั้นมาก ควรลดระยะเวลาการทำงานให้สั้นลง โดยให้เด็กพยายามทำงานให้เสร็จทีละอย่าง แต่ละอย่างใช้เวลาไม่นานมากนัก พยายามเน้นในเรื่องความรับผิดชอบ ทำงานให้เสร็จ ไม่ควรเน้นเรื่องลายมือหากสามารถอ่านได้ชัดเจน

    10. หลีกเลี่ยงการใช้วาจาตำหนิ ประจาน ประณาม ที่ทำให้เด็กอับอายขายหน้า ไม่ลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง (เช่นการตี) หากเป็นพฤติกรรมจากสมาธิสั้น เช่น ซุ่มซ่าม ทำของเสียหาย หุนหันพลันแล่น เพราะเด็กมีความลำบากในการคุมตัวเองจริงๆ ควรเตือนและสอนอย่างสม่ำเสมอว่า พฤติกรรมใดไม่เหมาะสมและพฤติกรรมที่เหมาะสมคืออะไร เปิดโอกาสให้เด็กได้แก้ไขด้วยตนเอง เช่น เก็บของเข้าที่ใหม่ ชดใช้ของที่เสียหาย

    11. ใช้การตัดคะแนน งดเวลาพัก ทำเวรหรืออยู่ต่อหลังเลิกเรียน (เพื่อทำงานที่ค้างอยู่ให้เสร็จ) เมื่อเด็กทำความผิด ควรบอกเป็นการส่วนตัวในห้องพักครู ไม่ควรตำหนิต่อหน้าเพื่อนให้เด็กอับอายและรู้สึกหมดหวังในตนเอง

    12. พยายามมีทัศนคติเชิงบวกต่อเด็ก มองหาจุดดีของเด็กและสนับสนุนให้เด็กได้แสดงออกถึงข้อดีหรือความสามารถของตนเอง

    13. พยายามสร้างบรรยากาศของความเข้าใจและเป็นกำลังใจให้เด็ก เพื่อเด็กจะได้พยายามปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น

    14. ให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนเป็นพิเศษ เนื่องจากเด็กที่เป็นสมาธิสั้น จะมีความบกพร่องทางด้านการเรียน (learning disorder) ร่วมด้วยประมาณร้อยละ 30-40 เช่น ด้านการอ่าน การสะกดคำ การคำนวณ เป็นต้น เด็กต้องการความเข้าใจและความช่วยเหลือจากคุณครูเพิ่มเติม แนวการสอนมีลักษณะดังนี้

      14.1 มีการแบ่งขั้นตอนเริ่มจากง่ายและจำนวนน้อยก่อน แล้วจึงเพิ่มความยากและจำนวนขึ้นในเวลาต่อมา เมื่อเด็กเรียนรู้ขั้นต้นได้ดีแล้ว

      14.2 ใช้คำอธิบายง่ายๆ สั้นๆ พอที่เด็กจะเข้าใจและให้ความสนใจฟังได้เต็มที่ ซึ่งหากมีการสาธิตอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม จะช่วยให้เด็ก
      เข้าใจได้ง่ายกว่าคำพูดอธิบายอย่างเดียว

    15. ควรสอนทีละเรื่อง หรือ เปรียบเทียบเป็นคู่ แต่ไม่ควรสอนเชื่อมโยงหลายเรื่องพร้อมๆ กัน

    16. เด็กที่เป็นสมาธิสั้น ควรได้รับการสอนแบบ "ตัวต่อตัว" หากสามารถทำได้จะดีที่สุด เนื่องจากครูสามารถคุมให้เด็กมีสมาธิ สามารถยืดยุ่นการเรียนการสอนให้เข้ากับความพร้อมของเด็กได้ดีกว่า

    17. ครูควรให้เวลาที่ใช้ในการ สอบ สำหรับเด็กที่เป็นสมาธิสั้น นานกว่าเด็กปกติ


    18. เด็กอาจมีปัญหาการปรับตัวเข้ากับเพื่อนเพราะเด็กมักจะใจร้อน หุนหัน เล่นแรง ในช่วงแรกอาจต้องอาศัยคุณครูช่วยให้คำตักเตือนแนะนำด้วยท่าทีที่เข้าใจ เพื่อให้เด็กปรับตัวได้และเข้าใจกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกับผู้อื่น



    19. เด็กที่มีสมาธิสั้น บางครั้งเพียงใช้การบอก เรียก หรืออธิบายอย่างเดียว เด็กอาจไม่ฟังหรือไม่ทำตาม คุณครูควรเข้าไปหาเด็กและใช้การกระทำร่วมด้วย เพื่อให้เด็กมีพฤติกรรมตามที่คุณครูต้องการ เช่น เมื่อต้องการให้เด็กเข้ามาในห้องเรียน หากใช้วิธีเรียกประกอบกับการโอบหรือจูงตัวเด็กให้เข้าห้องด้วย จะได้ผลดีกว่าเรียกเด็กอย่างเดียว

หากคุณครูเห็นว่า จะไม่สามารถทำตามข้างต้นได้หมด คุณครูก็ควรทำสิ่งง่ายๆ ต่อไปนี้ โดยไม่ต้องเสียอารมณ์ ไม่ต้องเสียงบประมาณ ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องเหนื่อยจนเกินไป

  • ไม่ดุเด็กต่อหน้าเพื่อนๆ เพราะเด็กจะรู้สึกอับอาย ถ้าเกิดบ่อยๆ จะเป็นบาดแผลในใจของเด็ก

  • คอยแตะที่ไหล่เด็ก เมื่อเห็นเด็กเหม่อ ใจลอย หรือ ไม่ตั้งใจฟังหรือทำงาน พูดเสริมเพียงเล็กน้อยว่า "เดี๋ยวครูจะช่วยหนู" รับรองว่าเด็กจะเชื่อฟังคุณครูและจะพยายามทำตามที่คุณครูบอก จนเต็มความสามารถ

  • สั่งการบ้านให้คุณแม่ทางอีเมล์หากเป็นไปได้

  • อนุญาตให้เด็กดื่มนมในห้องพักครู ในกรณีที่เด็กหิวผิดเวลาเนื่องจากเด็กรับประทานยาที่แพทย์สั่งจึงทำให้หิวผิดเวลา

  • หยุดพูดกระตุ้นให้เด็กเสียใจ เช่น

ลืมการบ้านอีกละซิ

ทำการบ้านไม่เสร็จอีกแล้วซิ

"ต้องอธิบาย กันกี่ครั้งจึงจะเข้าใจ"

  • เพิ่มเวลาสอบ

พวกเรามั่นใจว่าคุณครูส่วนใหญ่ มีเมตตาต่อลูกศิษย์และคงจะช่วยเด็กสมาธิสั้นตามข้างต้นได้ ที่สำคัญที่สุดคือ คุณครูต้องแก้ไขตนเองโดยยึดหลัก ทาน ศีล ภาวนา เป็นประจำทุกวันหากนับถือพุทธ และ แก้ไขตนเองเหมือนเช่นพ่อแม่ (อ่าน "จะหายได้หรือไม่")การช่วยเหลือเด็กตามข้างต้นจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ จนเด็กสัมผัสได้จากน้ำเสียง แววตาและการกระทำของคุณครู เด็กจะเคารพรักและเชื่อฟังคุณครูโดยอัตโนมัติและไม่รู้สึกว่าตนเองมีข้อด้อย จึงเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง"จิตใต้สำนึก" งดงาม "จิตสำนึก" จะดีเช่นกันและจะประสบความสำเร็จในการเรียนและในการดำรงชีวิตเมื่อเติบโตขึ้น

ขอกราบขอบพระคุณ ๆ หมอชาญวิทย์ พรนภดลไว้ ณ ที่นี้ พวกเราซาบซึ้งในความเมตตาของคุณหมอเสมอ และ ขอกราบคุณครูที่ให้ความเมตตากับลูกศิษย์ พวกเราเชื่อว่าคุณครูส่วนใหญ่จะแก้ไขตนเองเพื่อเห็นกับลูกศิษย์ที่น่าสงสาร



 
หน้าแรก  เกี่ยวกับเรา  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา  บริจาค และ สั่งซื้อหนังสือเรื่อง"For You....คุณแม่คนเก่ง
Copyright©2024 adhdthai.com
Powered by SMEweb